ภาษามลายูถิ่นปาตานี เป็นภาษามลายูถิ่นที่ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่ใช้พูดกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นับเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวไทยเชื้อสายมลายู
ภาษามลายูถิ่นปาตานียังคงทำหน้าที่หลักเช่นเดียวกับภาษาอื่นๆ คือเป็นสื่อในการแสดงความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการ เป็นต้น นอกจากนี้ภาษามลายูถิ่นยังถูกใช้เป็นสื่อเพื่อจุดประสงค์เชิงพาณิชย์และจิตวิทยาการเมืองการปกครองอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆแก่ชาวไทยมุสลิม
เนื่องจาก พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นพื้นที่ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม มีอัตลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างไปจากสังคมไทยในส่วนอื่นของประเทศ พวกเขามีภาษาพูดของพวกเขาเอง คือ ภาษามลายูถิ่น ยังมีชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้หนังสือไทย ฟัง-พูดภาษาไทยไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่เข้าใจเลย การที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ต้องใช้ภาษามลายูถิ่น ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งสำหรับข้าราชการที่ไม่รู้ภาษามลายูถิ่นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ในการที่จะสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้ (ข้อมูลจาก พจนานุกรมมลายูถิ่นปัตตานี – ไทย, ไทย – มลายูถิ่นปัตตานี สนับสนุนโดยมูลนิธิเอเชีย)
ระบบอีเลิร์นนิ่งเพื่อโครงการสื่อการสอนภาษามลายูนี้ จัดทำขึ้นโดยโครงการพัฒนาและส่งเสริมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างระบบอีเลิร์นนิ่งให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ภาษามลายูผ่านสื่อการสอนที่มีคุณภาพ
กลุ่มเป้าหมาย : ข้าราชการที่จะต้องลงไปปฏิบัติหน้าที่ยังจังหวัดชายแดนใต้รวมถึงประชาชนผู้สนใจทั่วไป
เนื้อหาประกอบด้วย : การใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน โดยแบ่งเป็น 15 หัวข้อใหญ่ หรือ 38 บทย่อย ในแต่ละบท ประกอบด้วยวิดีโอสอนภาษามลายู, ใบความรู้ที่เป็นคำศัพท์ต่างๆ, แบบทดสอบประเภทปรนัยและแบบอื่นๆ บทละ 2 แบบทดสอบ
*ระบบนี้ เปิดให้เรียนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
แหล่งข้อมูล :
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคใต้
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี